ฉันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปัจจุบันของการเคลื่อนไหว LGBTQ (บทแปล)
Alok Vaid-Menon:
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ผู้คนมีต่อ LGBTQ คือเข้าใจไปว่าพวกเรามีการเคลื่อนไหว (movement) ที่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ฉันไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเข้าใจว่าตัวอักษรแต่ละตัวในคำว่า LGBT เนี่ย มีประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป้าประสงค์ และลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศ ซึ่งอันที่จริงแล้วขัดกับสมมติฐานหลัก แนวคิด และยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของเกย์ และยังทำให้การเคลื่อนไหวของเกย์ซับซ้อนขึ้นอีก
คำว่า ‘เกย์’ คือคำที่ใช้เรียกผู้ชายที่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้ชาย ส่วนคำว่า ‘เลสเบี้ยน’ ก็คือคำที่ใช้เรียกผู้หญิงที่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้หญิง แต่ว่าตัวตนทางเพศทั้งสองก็แฝงไปด้วยในอัตลักษณ์และจินตนาการทางการเมือง ซึ่งก็คือแนวคิดที่ไม่ได้ตั้งคำถามแต่ต้นเลยว่า อะไรคือ ‘ผู้ชาย’ หรือ อะไรคือ ‘ผู้หญิง’ การเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิงหมายความว่าอย่างไร และทำไมเราจึงทำเสมือนว่าโลกนี้มีแค่สิ่งที่เรียกว่าผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย ที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของผู้คนที่ไม่ได้ดำรงอยู่ภายใต้หมวดหมู่ของการเป็น ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ และเมื่อคุณถามเกย์ว่า “คุณรู้สึกดึงดูดต่อชายข้ามเพศหรือเปล่า” โดยมากพวกเขาจะตอบว่า “ไม่” และเมื่อคุณถามเลสเบี้ยนว่า “คุณรู้สึกดึงดูดต่อผู้หญิงข้ามเพศหรือเปล่า” โดยมากพวกเขาก็จะตอบว่า “ไม่”
ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือการเคลื่อนไหวของเกย์นั้นยึดติดอยู่กับแนวคิด “cis-normative” [4] ว่าการเป็นผู้ชายหมายความว่าอย่างไร cis-normativity คือระบบอำนาจทางสังคมและสมมติฐานที่ว่าคนทุกคนเป็น cis-gender (ไม่ใช่คนข้ามเพศ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงเลย! นั่นมันแค่สิ่งที่สังคมทึกทักไปเอง อย่างต่อมาก็คือ มันยืนยันว่าเพศของคนทุกคนเป็นไปตามเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด และสุดท้ายก็คือสมมติฐานที่ว่าร่างกายของทุกคนสอดคล้องกับการแสดงออกทางเพศ (gender representation) ไม่มีอะไรที่ว่ามาเป็นจริงเลย
ฉันจะพูด ไม่ใช่เพื่อคนส่วนน้อยในสังคม แต่เพื่อคนส่วนใหญ่ เพราะฉันเชื่อว่าสิ่งที่ลึกซึ้งและน่าทึ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องคนข้ามเพศ คือการที่เราไม่ได้กำลังพูดถึงแค่คนข้ามเพศ
เรากำลังพูดว่าจริงๆแล้วการเอาโลกมาแบ่งเป็นสองซีกที่มีแค่ชายและหญิงมันเป็นการไม่สนใจความเป็นจริงที่เกิดกับคนทุกคน เอาจริงๆ เวลาฉันเจอผู้หญิงสองคน พวกเธอแตกต่างกันมากกว่าที่จะเหมือนกัน และการทึกทักเอาว่าพวกเธอมีประสบการณ์เหมือนกัน ก็เป็นการลบล้างประสบการณ์ของพวกเธอ ฉันเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีเพศเป็นของตัวเอง เพราะตัวตนของเราคือการสั่งสมของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ ความคิด ผู้คน สถานที่ที่เราเคยไปเยือน… ไม่มีเพศของใครเลยที่จะเหมือนกันได้
วิธีการที่คุณเข้าใจการเป็นผู้หญิง อาจแตกต่างจากที่คนอื่นเข้าใจ และนี่คือความเข้มแข็งและพลังอำนาจ… ดังนั้นการกล่าวว่า “ฉันชอบผู้หญิง” หรือ “ฉันชอบผู้ชาย” คือการตั้งสมมติฐานไปแล้วว่าโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าผู้ชายหรือผู้หญิง และเมื่อคุณเริ่มที่จะวิพากษ์การจัดหมวดหมู่ทางเพศแบบดังกล่าว คุณก็จะพบว่าผู้ชาย straight [5] ไม่ได้รู้สึกชอบผู้หญิงทุกคน นั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็น และไม่ใช่สิ่งที่ครอบคลุมความหลากหลายและความซับซ้อนของความต้องการ
เวลาเรารู้สึกดึงดูดกับใครสักคน โดยปกติแล้วมันไม่ใช่ว่า “ฉันรู้สึกดึงดูดต่ออวัยวะเพศของคุณ” และถ้านั่นคือสิ่งที่คุณรู้สึก ฉันก็คิดว่ามีอะไรมากมายที่คุณต้องกลับไปทำความเข้าใจแล้วแหละ
เรารู้สึกดึงดูดต่อการก่อร่างรวมตัวของหลายสิ่งอย่างในตัวตนของคนๆนั้น ฉันคิดว่าสิ่งที่การเมืองเรื่องคนข้ามเพศตั้งคำถามจริงๆก็คือ “ทำไมวิถีทางเดียวที่เราต่างถูกคาดหวังให้แสดงตัวตนทางเพศ ถึงยึดโยงอยู่กับการหยั่งรู้อวัยวะเพศของคนอื่น” นั่นมันพังมาก ฉันว่ามันดีกว่ามากเลยนะ ที่จะได้รับความปรารถนาเพราะบุคลิก ความฉลาด เพราะศิลปะและจินตนาการของเรา
ฉันมองว่ามันเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งนะ ที่ความสำคัญของคนจะขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศ แบบนั้นมันน่าขนลุกและประหลาด
ดังนั้นแล้ว สิ่งที่ฉันพยายามทำในฐานะนักกิจกรรมที่เป็นคนข้ามเพศ คือการพูดว่าเพศนั้นซับซ้อนมากกว่าการจะมีแค่สองเพศ (binary) [6] ฉันไม่รู้ว่าโลกที่ไม่ได้มีแค่สองเพศจะเป็นยังไง แต่ฉันคิดว่ามันคงเป็นจักรวาลที่ทุกคนเป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น และมันคงจะดีมาก ผู้คนมักวิตกและพูดว่า “แต่ว่าฉันเป็นผู้หญิงจริงๆนะ แล้วฉันจะอยู่ตรงไหนในอนาคตของโลกที่ไม่ได้มีแค่สองเพศล่ะ?” ฉันคิดว่าโลกเช่นนั้นจะยังมีหมวดหมู่ทางเพศที่เรียกว่า “ผู้หญิง” แต่สิ่งสำคัญที่เราควรเข้าใจก็คือว่า ‘ผู้หญิง’ จะไม่ดำรงอยู่ในฐานะเพศที่ตรงข้ามกับ ‘ผู้ชาย’ และ ‘ผู้ชาย’ ก็จะไม่ดำรงอยู่ในฐานะเพศที่ตรงข้ามกับ ‘ผู้หญิง’ ผู้หญิงและผู้ชายจะกลายเป็นหนึ่งในหลายๆเพศ แต่สิ่งที่ระบบเพศเป็นอยู่ก็คือ ไม่ใช่แค่ว่าเรามีทางเลือกทางเพศเพียงสองทาง แต่ทางเลือกทั้งสองมักดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน
นี่เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนทุกคน เพราะพฤติกรรมเล็กน้อยเพียงใดก็ตามที่เบนไปจากบรรทัดฐานทางเพศของสังคม จะถูกตีความว่าเป็นการพยายามทำตัวเหมือนผู้ชายหรือเหมือนผู้หญิง ไม่ใช่เป็นการพยายามทำตัวเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนแน่วแน่ เราก็ไม่ควรถูกมองว่ากำลังเป็นเหมือนผู้ชาย หรือว่าถ้าเราเป็นคนอ่อนไหว เราก็ไม่ควรถูกมองว่ากำลังเป็นเหมือนผู้หญิง แบบนั้นมันเป็นวิธีการมองโลกที่แปลกมาก
ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวในอินเดีย ซึ่งก็เหมือนการเคลื่อนไหวในทุกๆที่ที่มีความชายเป็นใหญ่สูงชะลูด สิ่งที่เปิดเผยออกมาซะมากก็คือการให้ความสำคัญกับการเกลียดกลัวคนเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน (homophobia) มากกว่าระบบความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะว่าเวลาคุณฟังประสบการณ์ของผู้หญิงเควียร์ [7] และคนข้ามเพศ เวลาเราเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเธอ เราแทบไม่ใช้คำว่า homophobia เรามักกล่าวว่านี่เป็นเรื่องของสังคมชายเป็นใหญ่ และเราเข้าใจว่าการควบคุมเพศวิถี (sexuality) [8] ของผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือเสมอมา (นี่เป็นปัญหาใหญ่) ฉะนั้นสำหรับผู้หญิงเควียร์และคนข้ามเพศ เราเข้าใจว่าทางเดียวที่เราจะเป็นอิสระได้คือการทำลายลัทธิชายเป็นใหญ่ เพราะนั่นจะทำให้เราสามารถเป็นเจ้าของร่างกายและความปรารถนาของเรา มากกว่าที่ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง และศาสนาจะมาเป็นเจ้าของร่างกายและความต้องการของเรา สังคมชายเป็นใหญ่คือการที่ผู้หญิงไม่สามารถเป็นเจ้าของเพศวิถีของตัวเอง ผู้หญิงถูกครอบครองโดยสิ่งอื่น ฉะนั้นคนเพศไหนก็ตามที่มีลักษณะ feminine [9] จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของเพศวิถีของตัวเอง พวกเขาถูกครอบครองโดยคนที่มีลักษณะ masculine [10]
เวลาคุณฟังสิ่งที่นักกิจกรรมเกย์ผู้ชายส่วนใหญ่พูด พวกเขาไม่ได้พูดเรื่องเพศสภาพ (gender) [11] ด้วยซ้ำ พวกเขาแค่พูดเรื่องความต้องการและเซ็กส์ นั่นไม่ได้ไปท้าทายระบบชายเป็นใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆแล้วคือพวกเขาแค่พยายามจะเข้าถึงอำนาจแบบที่ผู้ชาย straight เข้าถึง นี่คือปัญหาใหญ่ในการเคลื่อนไหวของเกย์ในอินเดีย มันมีความเกลียดชังผู้หญิง หรือความเฟมินิน (misogyny) อย่างท่วมท้นในพื้นที่ของเกย์ ฉันรู้จักผู้หญิงและคนข้ามเพศมากมายที่รู้สึกไม่ปลอดภัยในการไปปาร์ตี้ของเกย์ มีปาร์ตี้เกย์มากมายกล่าวโต้งๆว่า “คนแต่งตัวข้ามเพศห้ามเข้า” ดังนั้นคนแบบฉันก็ห้ามเข้า เพราะเราถูกมองว่า “ดึงดูดความสนใจ” มากเกินไป สิ่งที่เกิดตามมาคือ เกย์ที่ได้รับการยอมรับจะต้องเป็นเกย์ที่ระแวดระวัง ต้องใช้ชีวิตราวกับว่ามีสองชีวิต เหมือนชีวิตหนึ่งเป็น straight ส่วนอีกชีวิตที่เป็นชีวิตส่วนตัวถึงเป็นเกย์ ฉันคิดว่าทางสองแพร่งของการเป็นผู้หญิงหรือคนข้ามเพศก็คือการที่คุณไม่สามารถซ่อนตัวตนของคุณไว้ในซอกหลืบอย่างง่ายดายนัก เวลาคุณเดินออกจากคลับ คุณก็ยังเป็นผู้หญิง คุณยังเป็นคนข้ามเพศ นี่มันเกี่ยวข้องอย่างมากกับสังคมชายเป็นใหญ่ สิ่งที่ฉันกำลังพูดก็คือ หลังจากการแสดงของฉันจบลง หลังจากที่คนเป็นร้อยอาจจะปรบมือให้ วินาทีที่ฉันลงจากเวที เวลาที่ฉันมาเดินอยู่บนถนน ฉันถูกโจมตี ฉันไม่มีหนทางที่จะเป็นตัวเอง (come out) ที่จะเป็นส่วนตัว ฉันถูกจับจ้องอยู่เสมอ นี่หมายความว่าเวลาผู้คนโกรธ แม้แต่เมื่อพวกเขาโกรธเกย์ พวกเขาเอาความโกรธมาลงที่เรา ผู้หญิงและคนข้ามเพศนี่แหละที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเรื่องครอบครัวและคู่รักในบริบทของอินเดีย ที่ที่มีการแบ่งแยกทางเพศอย่างมาก ที่ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากแม้แต่สำหรับผู้หญิงที่ไม่ใช่คนข้ามเพศและไม่ใช่เลสเบี้ยนด้วยซ้ำ ที่แม้แต่จะหาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้เพียงพอ ที่จะมีอพาร์ทเม้นต์ของตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงการเซ็นสัญญาเช่าด้วยตัวเองด้วยซ้ำ ใช่มั๊ยล่ะ?
สุดท้ายกลุ่มคนที่สามารถใช้ชีวิตส่วนตัว ชีวิตเควียร์ หรือชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ได้ก็มักเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงและคนข้ามเพศก็มักจะจนและต้องดิ้นรนมากกว่า เข้าไม่ถึงความเป็นส่วนตัวหรือการมีชีวิตนอกบ้าน นี่เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับความต้องการมากกว่าเพศ แต่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้นมากนะ ฉันหวังว่าเราจะพูดเกี่ยวกับชนชั้นกันมากกว่านี้ด้วย ในการเคลื่อนไหวของเกย์ ถ้าผู้หญิงสองคนคบกัน นั่นหมายความว่าผู้หญิงทั้งสองมีรายได้น้อย ทำให้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้หญิงเควียร์ที่จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี และถ้าคุณเป็นคนข้ามเพศ คุณก็จะถูกไล่ออกจากงานแทบทุกงาน เพราะผู้คนคิดว่าคุณดูไม่น่าเชื่อถือ คุณจะถูกขับไล่ไสส่งไปอยู่ชนชั้นที่ต่ำกว่าทางเศรษฐกิจ ไปอยู่ในวงการบันเทิง พวกเราไม่ได้รับ…ประกันสุขภาพที่มั่นคง เราจึงเข้าไม่ถึงพื้นที่ของเกย์และเมืองอย่างบอมเบย์ สำหรับฉันนี่มันคือเรื่องของเพศและชนชั้นทั้งนั้น ฉันตระหนักถึงข้อได้เปรียบ (privilege) ของตัวเองเสมอ ที่ว่าฉันเป็นคนข้ามเพศคนเดียวที่ฉันรู้จักที่เข้าถึงพื้นที่แบบที่ฉันเข้าถึง คนข้ามเพศส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียจนอย่างเหลืออด และนั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ทำงานหนัก แต่เพราะพวกเขาเป็นคนข้ามเพศ
เรามอบการเป็นที่สังเกต (visibility) ให้ผู้หญิงและคนข้ามเพศ แต่เราไม่ให้พวกเขามีเงิน ฉันพูดอยู่เสมอว่าเราไม่ต้องการผู้หญิงหรือคนข้ามเพศอีกคนบนปกนิตยสาร แบบนั้นมันทำอะไรให้ชีวิตเราเหรอ? ไม่เลยสักนิด เราทำกันแบบว่าแค่จ่ายเช็คให้พวกเขาแล้วทุกอย่างก็จบ แบบว่า “ดูสิ พวกเรามีผู้หญิงเป็นวิศวกรนะ เราทำดีแล้วล่ะ” แต่มันยังมีผู้หญิงอีกเป็นพันๆที่ยังต้องดิ้นรน
คุณพยุงคนแค่หนึ่งคนขึ้นมา ให้พื้นที่คนคนนั้น แล้วคาดหวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในแบบเดียวกัน โดยไม่ดูเลยว่าสถานการณ์จริงๆเป็นอย่างไร
ฉันก็เลยพยายามถอยห่างจากการเมืองเชิงสัญลักษณ์ แบบที่ตั้งรูปในโน๊ตบุ๊คเป็นรูปสายรุ้ง เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็น “ฉันสนับสนุน LGBT” ซึ่งมันดีนะ แต่มันไม่ได้ช่วยปกป้องพวกเราจริงๆ สิ่งที่ฉันสนใจจริงๆก็คือ คุณทำอะไรเพื่อให้ชีวิตของ LGBT ดีขึ้น? โดยเฉพาะเพื่อผู้ชายที่เป็นไบ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศ เพราะพวกเรานี่แหละที่เผชิญกับความรุนแรงอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดโดยสังคมแทบไม่รับรู้เลย หนทางจริงๆที่ทำได้คือ ลองคิดดูให้ดีว่าเรามีศูนย์คนไร้บ้านที่สามารถรองรับ LGBT ได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า ที่ที่ LGBT สามารถไปหา พร้อมกับปัญหาทุกอย่างที่พวกเขาแบกรับ เพราะมีหลากหลายกรณีมากที่พวกเราถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกตัดขาดจากครอบครัว เพราะเราเป็นตัวเอง และเราไม่มีระบบอะไรมารองรับ
พอมาตอนนี้พวกคุณต้องการให้เราเป็นตัวเอง (come out) แต่คุณไม่มีระบบมารองรับเราเมื่อเราเปิดเผยตัวเอง เราไม่ควรตกใจด้วยซ้ำเวลาที่ครอบครัว โรงเรียน หรือบริษัทไล่พวกเราออก เราควรพร้อมรับมือสิ! นี่คือตอนที่ฉันคิดว่าเรามัวแต่ยุ่งอยู่กับการโพสสติกเกอร์สายรุ้งมากกว่าการมาคิดว่าเรามีศูนย์พักพิงให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ที่มีความพร้อมดูแลคนข้ามเพศและเควียร์ที่ต้องเผชิญความรุนแรงแบบดังกล่าวไหม? ในอินเดีย จนกระทั่งตอนนี้ แนวคิดเดียวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวคือความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย! ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของเควียร์เช่นกัน แต่เรื่องนี้แทบไม่ได้รับการพูดถึง และเวลาผู้หญิงข้ามเพศมาที่ศูนย์พักพิงของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ผู้คนมักตำหนิผู้หญิงข้ามเพศแล้วถามเธอว่า แล้วไปออกเดตกับผู้ชายคนนั้นทำไมล่ะ?
เมื่อคุณมองสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าใครกันที่ถูกลงโทษโดยมาตรา 377 พวกเขาคือคนกลุ่มเดียวกันที่ถูกลงโทษเสมอมา นั่นก็คือคนจน ผู้ค้าบริการทางเพศ คนที่อยู่ชั้นล่างของฐานเศรษฐกิจ และคนข้ามเพศ โฉมหน้าของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวประเด็นมาตรา 377 ก็คือเกย์ชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ได้ประสบกับความโหดร้ายทารุณทุกชนิดแบบที่คนข้ามเพศประสบ สิ่งที่ฉันได้ยินอยู่บ่อยๆก็คือ “เรามีคนข้ามเพศที่เคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศ แต่เพศวิถียังถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ดังนั้นตอนนี้เราต้องโฟกัสเรื่องเกย์” นี่มันผิดมหันต์ เพราะคนข้ามเพศก็เป็นเกย์ได้เหมือนกัน ผู้คนทำราวกับว่าคนข้ามเพศล้วนแต่เป็น straight และนี่ก็ไม่เป็นความจริง! ฉันรู้จักผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นเลสเบี้ยน ฉันรู้จักคนข้ามเพศมากมายที่เป็นเกย์ และพวกเขาก็ประสบกับความรุนแรงเป็นสองเท่าตัว ทั้ง homophobia และ transphobia การพูดว่าเราได้ทำให้ชีวิตของคนข้ามเพศดีขึ้น แต่ชีวิตของเกย์ไม่ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่จริงและไม่ถูกต้อง
สำหรับตัวฉันเอง ฉันมองการเมืองทั้งหมดในฐานะการรับมือกับวิกฤต เพราะความเป็นจริงคือผู้หญิงเควียร์ส่วนมากและคนข้ามเพศในอินเดียและในทุกๆที่อยู่ในภาวะวิกฤต ถ้าเราไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่อยู่ตรงนั้นเพื่อรองรับเมื่อคนเหล่านี้ถูกทำร้าย นั่นแปลว่าเราไม่มีการเคลื่อนไหว เราไม่มีสิ่งนั้นในตอนนี้ และในประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ แม้แต่ประเทศของฉันคือในสหรัฐอเมริกาก็มีความรุนแรงต่อ LGBT ที่พุ่งสูงขึ้นเพราะการขึ้นมาของทรัมป์และฝ่ายขวา และสิ่งที่เกย์หลายคนตระหนักก็คือ “เห้ย ฉันไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนเวลาถูกอัดบนถนน ฉันไม่รู้ว่าจะทำยังไง ฉันไม่รู้ว่าจะโทรหาใครด้วยซ้ำ” ฉันเดาว่าพวกเขาอาจจะทำวิดิโอลงเฟสบุ๊คและเราก็แชร์วิดิโอกัน แต่นั่นมันช่วยอะไร? นั่นไม่ได้ปกป้องคนจริงๆ และในทางกลับกันเราต่างก็ถามคำถามว่า “เราทำอะไรพลาดไป?” “เราคิดไปได้ยังไงกันว่าเราชนะแล้ว” นี่แหละทำให้ฉันตะขิดตะขวงใจกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และทำให้ฉันใส่ใจมากกว่ากับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการเคลื่อนไหว สำหรับฉันการสร้างโครงสร้างแบบที่ว่ามาคือการที่ทุกบริษัทให้ความสำคัญกับการว่าจ้าง LGBT ทุกโรงเรียนมีทุนการศึกษาให้ LGBT และการมีที่อยู่อาศัยให้ LGBT นี่คือการก้าวให้พ้นการยอมรับแค่ในเชิงสัญลักษณ์ เราต้องสนับสนุนคนด้วยทั้งงานและเงิน
ผู้แปล:
บทความต้นฉบับเป็นบทความที่เป็นบทสัมภาษณ์ของคนอินเดียนอเมริกัน (ไม่ใช่คนพื้นเมืองอเมริกันนะ อันนี้คือคนที่ครอบครัวมีพื้นเพมาจากประเทศอินเดีย แล้วมาอยู่อเมริกา) เจ้าของบทสัมภาษณ์เป็นศิลปิน เป็นกวี และเป็นนักกิจกรรม LGBT ที่เราชอบมาก ที่สำคัญคือเป็นคนที่ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม หรือ gender non-conforming [1] เป็นคนข้ามเพศที่มีลักษณะ feminine แต่ไม่ได้มองว่าตนเป็นคนข้ามเพศผู้หญิง หรือ transfeminine [2] แล้วก็เป็นคนที่ใช้สรรพนาม they/them (พวกเขา) ในการกล่าวถึงตัวเอง เพราะสรรพนามแบบดังกล่าวเป็นสรรพนามไม่แบ่งแยกเพศ ปกติสรรพนามบุคคลที่สามในภาษาอังกฤษจะใช้ he คือเขา หรือ she คือเธอ แต่ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวในกลุ่มคน gender non-conforming ที่มองว่าตนไม่ได้เข้ากับหมวดหมู่การเป็น ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ตามขนบสังคม และสบายใจกว่ากับการใช้สรรพนามที่ไม่ระบุเพศ
ที่เลือกแปลบทความนี้ เพราะเห็นว่าแนวคิดหลายๆอย่างในบทความน่าสนใจ และเป็นแนวคิดที่จะทำให้เราพูดประเด็นเรื่องเพศกันได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ผู้แปลเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมใดๆก็ตาม รวมถึงการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ควรเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญแก่กลุ่มคนที่ ‘สังคมให้ความสำคัญและใส่ใจน้อยที่สุด’ เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจ แก้ไขความเข้าใจผิดและอคติทางเพศ
บทแปลนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ในบริบทของอินเดียและอเมริกาเป็นหลัก แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าเก็บไปคิดต่อ คือการพูดถึงเรื่องเพศให้ครอบคลุมมากขึ้นและไปให้ถึงรากฐานของปัญหา เพราะรากฐานของความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างหนึ่งคือการมองว่าโลกมีแค่สองเพศ คือหญิงชายตามขนบ (ผู้หญิงต้องอ่อนหวานอ่อนโยน ต้องปฏิบัติตัวตามที่สังคมคาดหวังจากผู้หญิง ส่วนผู้ชายก็ต้องเข้มแข็ง พึ่งพาได้ ตามที่สังคมคาดหวังจากเพศชาย) ดังที่บทสัมภาษณ์ชี้ให้เห็น แนวคิดเช่นนี้ทำร้ายทุกคน ในความเป็นจริงผู้หญิงและผู้ชายส่วนใหญ่ในสังคม ไม่มีใครเติมเต็มอุดมคติตามขนบเพศได้ร้อยเปอร์เซ็น แถมการคาดหวังให้คนทำเช่นนั้นก็ยังไปทำร้ายคนที่ไม่เป็นไปตามขนบทางเพศที่สังคมคาดหวัง อย่างคนข้ามเพศ หรือคน non-binary อย่างเจ้าของบทสัมภาษณ์ ลองดูภาพเจ้าของบทสัมภาษณ์ดูก็ได้ เค้าเป็นคนที่แต่งตัวในลักษณะ feminine แต่ก็ไม่ได้ feminine ตามขนบ คือเค้ายังไว้หนวด ไม่โกนขน ไม่ได้ทำตามบรรทัดฐานสังคม และคนเหล่านี้มักถูกกลั่นแกล้ง โจมตี และไม่ได้รับโอกาสเพราะสังคมมีอคติ
หรือถ้าลองนึกตามในบริบทของสังคมไทย ไม่ใช่ว่าผู้หญิงข้ามเพศทุกคนจะสวยแบบปอยตรีชฎาได้ และก็ไม่จำเป็นด้วย แต่คำถามคือสังคมเอาคนเหล่านี้ไปไว้ตรงไหน ถ้าผู้หญิงข้ามเพศหรือกะเทยไม่ได้สวยตามขนบสังคม เรายังเคารพตัวตนและอัตลักษณ์ของเค้ามั๊ย ? หรือเราก็แค่ล้อเลียนเค้า แล้วคิดว่า ‘ก็แค่ล้อเล่นเอง’ โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อชีวิตจิตใจที่ตามมา ?
เช่นเดียวกันกับกรณีของคนข้ามเพศผู้ชาย หรือ non-binary เราต้องตอบกันให้ได้อย่างตรงไปตรงมาว่าสังคมไทยมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าไม่ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องพูดกันให้มากขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งในบทความที่อยากเสริม คือตอนที่ Alok บอกว่าผู้หญิงและคนข้ามเพศ ไม่สามารถ “ไม่เป็นที่สังเกต” หรือไม่สามารถ “เป็นส่วนตัวได้” แล้วโยงเรื่องนี้กับสังคมชายเป็นใหญ่ที่เกย์ผู้ชายยังสามารถมีชีวิตส่วนตัวได้ ผู้แปลคิดว่าตรงนี้ Alok หมายความว่า การที่ยังเป็นผู้ชาย (cis) โดยเฉพาะในบริบทของอินเดีย คุณไม่ได้ตกเป็นเป้าของการถูกทำร้าย เพราะยังไงก็มีร่างกายเป็นผู้ชายในแบบที่สังคมคาดหวังและเคารพ ดังนั้นจึงสามารถใช้ชีวิตหนึ่งเป็นเกย์ ไปผับไปบาร์ (ซึ่งถือเป็นชีวิตส่วนตัว) ส่วนในที่สาธารณะที่ผู้คนมองเห็นคุณเป็นแค่ผู้ชายคนหนึ่ง คุณไม่ตกเป็นเป้าโจมตี ในทางกลับกัน ผู้หญิงหรือคนข้ามเพศตกเป็นเป้าโจมตีอยู่เสมอ เดินบนถนนก็ไม่ปลอดภัย เข้าไปในผับก็ยังถูกมองเป็นผู้หญิง เป็นคนข้ามเพศ ออกมาเดินบนถนนก็ยังเป็นเช่นนั้น ผู้หญิงและคนข้ามเพศไม่สามารถมีชีวิตอีกชีวิตที่เป็นส่วนตัวในลักษณะเดียวกันกับผู้ชายได้
สุดท้ายนี้ก็ขอบคุณคุณ Alok Vaid-Menon ที่ตอบกลับอีเมลขอแปลบทสัมภาษณ์อย่างรวดเร็ว หวังว่าบทความนี้จะสามารถจุดประเด็นและจุดประกายความคิดในการสนทนา ในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศได้บ้าง โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย ที่เราไม่ได้มีชุดความรู้เรื่อง gender&sexuality แพร่หลายมากเพียงพอ
Gender Glossary
[1] gender non-conforming คือคนที่ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม เช่นแบบเจ้าของบทสัมภาษณ์
[2] transfeminine คือคนข้ามเพศที่มีลักษณะ feminine แต่ไม่ได้มองว่าตนเป็นคนข้ามเพศผู้หญิง (เพศหลากหลายและกว้างกว่าการมีแค่หญิงและชายตามบรรทัดฐานสังคม)
[3] คนข้ามเพศ (transgender; trans person) เวลาพูดถึงคนข้ามเพศ สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดคือเข้าใจไปว่าต้องเป็นคนที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศแล้ว แต่จริงๆไม่จำเป็น คนข้ามเพศคือคนที่เพศไม่ตรงกำเพศที่ถูกกำหนดให้ตอนเกิด ไม่ต้องผ่าก็ได้ ไม่จำเป็น
[4] cis-normative คำว่า cis อ่านว่า ซิส แปลว่าคนที่ไม่ใช่คนข้ามเพศ cis-normative หมายถึง สมมติฐานทางสังคมที่มองว่าคนทุกคนไม่ใช่คนข้ามเพศ ว่าเพศของคนทุกคนตรงกับเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด คำเรียก cisgender ใช้กันเพื่อเน้นย้ำว่ามีกลุ่มคนที่เพศตรงกำเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด และก็มีคนอีกกลุ่มคือ transgender (คนข้ามเพศ) ที่เพศไม่ตรงกับเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด
[5] straight คือคนที่ชอบ “เพศตรงข้าม”หรือผู้ชายที่ชอบผู้หญิง ผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย แต่ผู้แปลไม่ชอบคำนี้เพราะมันบอกเป็นนัยว่าเพศหญิงเป็นขั้วตรงข้ามกับเพศชาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น เลยเลือกทับศัพท์เอา
[6] คำว่า “gender binary” ใช้อธิบายปรากฏการณ์เรื่องเพศในสังคมที่มักมองว่าโลกนี้มีแค่สองเพศคือชายและหญิง และมองว่าทั้งสองเพศต้องเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่นผู้ชายเข้มแข็ง ผู้หญิงอ่อนแอ ผู้ชายชอบสีฟ้า ผู้หญิงชอบสีชมพู ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น การมองเช่นนี้เป็นเพียงค่านิยมของสังคม
[7] เควียร์ (queer) คือคำว่าเควียร์ใช้กล่าวโดยรวมถึงคนที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่เป็นไปตามขนบของสังคม คำว่าเควียร์เคยถูกใช้เป็นคำด่า เป็นคำที่ใช้กดขี่คนรักร่วมเพศ แต่ต่อมาคำๆ นี้เองถูกนำมาใช้โดยเกย์และผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คนเพศใดเพศหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้น และใช้เพื่อ “ทวงคืนอัตลักษณ์” ในตั้งแต่ช่วง 1990 โดย gender activists และ gender theorists อย่างกว้างขวาง
[8] เพศวิถี (sexuality) หมายถึงค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศ สามารถรวมทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ รสนิยมทางเพศ เช่นเพศวิถีของผู้หญิง (ตามที่สังคมคาดหวัง) คือการที่ต้องเรียบร้อย อ่อนโยน ต้องรักษาพรหมจรรย์อะไรเทือกนี้
[9] feminine คำนี้ปกติมักแปลเป็นไทยกันว่า “ความเป็นหญิง” แต่ไม่ชอบและไม่เห็นด้วย คือลักษณะความเป็น feminine มันคือลักษณะที่สังคมผูกเอาไปยึดติดกับผู้หญิงเป็นหลัก(พวกลักษณะเจ้าอารมณ์ อ่อนไหว อ่อนโยนอะไรเทือกนี้) แต่เราไม่อยากให้มันเป็นคำที่ผูกติดอยู่กับผู้หญิง เพราะใครก็มีลักษณะ feminine ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จนปัญญา นึกไม่ออกว่าจะใช้หรือประดิษฐ์คำไทยอะไรแทน
[10] masculine เช่นเดียวกันกับคำว่า feminine แต่ความหมายเป็นไปในทางตรงข้ามกับ masculine ก็คือลักษณะที่สังคมเอาไปยึดโยงกับผู้ชาย (ลักษณะเข้มแข็ง แข็งแรง มีเหตุผล) อะไรเทือกนี้ เลือกทับศัพท์เพราะเหตุผลเดียวกันกับคำว่า feminine
*เพื่อนที่เรียนภาษาศาสตร์แนะนำว่าให้แปล femininity เป็นคำว่า นรีภาพ คำว่า masculinity เป็นบุรุษภาพ ถ้าใช้คำแบบนี้ก็จะบอกเป็นนัยว่าลักษณะที่ยึดโยงกับ ‘ผู้หญิง’ และ ‘ผู้ชาย’ เป็นการประกอบสร้าง นารี = ผู้หญิง ส่วนภาพ/ภาวะ = state of being ภาษาไทยเอามาใช้แปลว่า picture มันก็บอกโดยนัยว่าเป็นสิ่งประกอบสร้าง บุรุษภาพก็เช่นเดียวกัน
[11] เพศสภาพ (gender) คือเพศในฐานะสิ่งประกอบสร้างของสังคม เช่นการมองว่า ผู้หญิงเหมาะกับสีชมพู อะไรแบบนี้มันเป็นแค่ความบังเอิญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่ชีววิทยา
ที่มาของบทสัมภาษณ์:
I Don’t Agree with the Current Stream of Thought in the LGBTQ Movement
ผู้แปล: เฌอทะเล สุวรรณพานิช